จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

หิมะ ในพม่า ตอน 3

     ภูเขาหิมะแห่งพม่า... ป่าหิมพานต์สุดขอบโลก บันทึกเดินทาง โดย พล..วิวัฒน์ วิสนุวิมล
หากจะนับดินแดนอันไกลโพ้นที่ยังไม่มีการสำรวจอย่างทั่วถึงนั้น ป่าฝนหนาว(Himalaya Evergreen Forest) ของ เทือกเขาหิมาลัย ตะวันออกเหนือสุดของพม่า น่าจะครองความลี้ลับไม่เป็นรองใคร และถ้าหากจะมองกันด้านความหลากหลายทางวิชาการแล้ว อาจจะอยู่ในระดับแนวหน้าเสียด้วยซ้ำไป การที่ยอดเขา Hkakabo Razi ของ เมืองปูเตา(Putao) สามารถยืนตระหง่านกว่า 5,850 เมตร สูงกว่าเทือกเขาใดๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท้าทายนักสำรวจทั่วโลกได้นั้น นอกจากจะเป็นซอกหลืบของที่ขุนเขาไร้ผู้คนจนชาวบ้านขนานนามว่า ภูเขาผีสิง แล้ว ยังเป็นแผ่นดินยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลพม่าให้ความหวงแหนยิ่งนักอีกด้วย การดำรงความลึกลับและสลับซับซ้อนมานานนับล้านๆ ปี ทำให้ป่าฝนแห่งนี้เป็นที่รวมของความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งใน โลก อีกทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สูงกว่าป่าฝนทั้งปวง จึงนำมาซึ่งความสลับซับซ้อนรอคอยการค้นหาซึ่งปมคิดทางวิชาการ และคำอธิบายจากนักสำรวจ นักวิเคราะห์วิจัย และนักวิชาการแต่ละสาขามากเหลือคณานับ นอกจากนี้ ตำนานปรัมปราที่เป็นมุขปาฐะเล่าสืบทอดมาว่า แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินวิปโยคของชนเผ่าไทในอดีตที่ต้องอพยพข้ามภูเขาน้ำแข็ง ทุรกันดาร มุ่งหาชีวิตใหม่ในแผ่นดินอัสสัมนานมาหลายชั่วคนแล้ว แต่แทนที่จะได้พบกับความสุขสมบูรณ์ กลับต้องกลายเป็นชนชั้นต่ำสุดของอินเดียในปัจจุบันเพราะเหตุใด? มนต์เสน่ห์ของธารหิมะน้ำแข็งที่ทอดยาวเหนือขอบฟ้าเมืองปูเตา ชั่วนาตาปี ทำให้เชื่อได้ว่าป่าฝนหิมะน้ำแข็งนี้น่าจะอยู่สุดขอบโลกตามที่อาจารย์ ม..จารุพันธ์ ทองแถม โครงการหลวงมหาวิทยาลัยเกษตรฯ กล่าวไว้จริง เพราะว่าตั้งแต่แนวนี้เป็นต้นไป ผ่านพรมแดนจีนและอินเดีย จะมีแต่หิมะน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตา ไม่มีป่าหิมพานต์ให้เห็นอีกแล้ว แผนพิชิตภูเขาน้ำแข็ง แม้ว่าในทางภูมิศาสตร์พม่ากับไทยนั้นจะอยู่ใกล้ชิดติดกัน มีเพียงแม่น้ำสาละวินและทิวเขาตะนาวศรีกั้นเป็นเขตแดน หากในความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว พม่าเป็นแผ่นดินต้องห้าม ไกลสุดเอื้อม เข้าใจยาก และไม่ปลอดภัย แต่ก็เป็นความจริงที่ว่า พม่าเป็นแผ่นดินที่ยังไม่สงบ มีโอกาสลุกเป็นไฟได้ โดยเฉพาะกับ
ชนกลุ่มน้อย และก็เป็นความจริงอีกนั่นแหละ ที่พม่าต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี สร้างประชาชนให้อดทน สู้ชีวิต รักการเรียนรู้ พึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ความสัมพันธ์ของผมกับพม่า จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงในด้านการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวิชาการเท่านั้น สิ่งนี้เป็นตัวกุญแจไขปริศนาและความยุ่งยากทั้งหลายในเวลาต่อมา 2 ปี แห่งการเตรียมการและรอคอย ที่จะพิชิตภูเขาน้ำแข็งและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ผมได้ยินแต่คำว่า ไปทำไม? อันตราย! "ประเทศพม่าไม่อนุญาต" แพงมากนะ! แต่ความมุ่งมั่นทำให้ผมพบกับบุคคลสำคัญหลายคน เช่น ดร.อลัน ราบินโนวิชต์ ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์และสำรวจของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชพรรณ(มลรัฐ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) และ ดร.จีซู นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง นักวิชาการไทย อาทิ รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณอรนุช แสงจารึก บัณฑิตทางโบราณคดี ที่หันเหชีวิตมาทำงานอยู่ที่รัฐสภา ตลอดจนผู้บังคับบัญชาหลายท่าน ซึ่งหลายคนเป็นผู้ให้ความรู้ กำลังใจ และบางคนได้กลายเป็นผู้ร่วมเดินทางชีวิตบนขุนเขาใหญ่เหนือที่ราบเมืองปู เตา(Putao) ที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนไทยคำตี่ในเวลาต่อมา เกือบ 2 สัปดาห์ ใครเป็นผู้มีอำนาจจริงในแผ่นดินอาถรรพ์ 5 ปีที่แล้ว ผมได้เดินทางไปพุกาม เมืองหลวงเก่าของพม่า ที่ต้องมาเสียเมืองให้อาณาจักรจีนในยุคมองโกลครองเมืองในปี พ..1830 หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ของเมืองพุกามเล่าให้ผมฟังว่า เช้าวันหนึ่ง ชาวบ้านพุกามต้องตระหนกตกใจกันทั้งเมือง เพราะภูเขาที่รายล้อมเมืองพุกามนั้นดูเหมือนจะเคลื่อนที่ได้ แต่เมื่อเฝ้ามองจริงๆ แล้ว ภูเขาไม่ได้เคลื่อนที่ แต่เป็นกองทัพจีนกว่า 500,000 คน ต่างหากที่บีบกระชับพุกามเข้ามาทุกด้าน กษัตริย์พุกามทิ้งเมืองผละจากการต่อสู้ การรบราฆ่าฟันจึงไม่มี จักรพรรดิจีน(ยุคมองโกล) จึงได้ตั้งเจ้าไทใหญ่ขึ้นปกครองแทน แต่หลังจากนั้นไม่นานเจ้าไทใหญ่ก็ถูกกองทัพพม่ามาขับไล่ไปอีก ด้วยเหตุนี้กระมัง ไทกับพม่าจึงเป็นไม้เบื่อไม้เมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนชาวคะฉิ่น(คน-ฉิน,จีน?) แท้จริงแล้วคือกองทัพจีนที่ตกค้างอยู่หลังจากมองโกลถอนทัพออกไป คะฉิ่นจึงทำไม่รู้ไม่ชี้ เพราะไม่มีเรื่องกับใคร อยู่กับพม่าก็ได้ อยู่กับไทก็ได้ ความกดดันและหวาดวิตกทำให้การอพยพขนาดใหญ่ของชนเผ่าไทสู่อัสสัม ประเทศอินเดีย จึงเกิดขึ้น มหาอำนาจจีนได้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ในครั้งกระโน้น มหาอำนาจในปัจจุบันจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์อะไรหรือเปล่า? ปัจจุบันพม่าตอนบน แม้จะมีชนชาติไทที่รู้จักกันในนามไทคำตี่(แปลว่า มีทองคำมาก) อาศัยอยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยเหตุผลบางประการใช้ชื่อว่ามลรัฐคะฉิ่น ในเมืองปูเตา ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทอาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่ม แต่บ้านเรือนที่ตั้งบนทำเลยุทธศาสตร์สำคัญคือ พื้นที่สูง สะดวกในการตรวจการณ์ ใกล้สะพานใหญ่ ชุมทาง และโค้งน้ำสำคัญจะเป็นพื้นที่ชาวคะฉิ่นเผ่าต่างๆ ครอบครองทั้งสิ้น กาลเวลาที่ผ่านไป วิถีชีวิตของคนไทในปูเตาและอัสสัม ได้เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของตนเองไปแล้ว เล่ากันมาว่า ประวัติศาสตร์ของพวกเขาที่เขียนด้วยเลือดและน้ำตานั้น น่าจะเป็นบทเรียนว่า ความสุขสงบร่มเย็นและรักในสันติภาพ แต่ขาดยุทธศาสตร์แห่งชาติที่ถูกต้อง ย่อมต้องถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา ก่อนจะถึงปูเตาก็ยากแล้ว การเดินทางจะต้องมีการวางแผน ศึกษาภูมิประเทศ วิถีชีวิตของชาวบ้าน สภาวะอากาศ และชะตากรรมของผู้บุกเบิกในอดีต ความรู้ ทุกคนเตรียมได้เหมือนกัน ส่วนที่เหลือคือร่างกายและจิตนั้น เราจะต้องเตรียมของเราเอง การเตรียมจิตใจในพม่าไม่เพียงแต่ความกล้าหาญ แต่ต้องมีความเข้มแข็งและอดทนในการรอคอยอีกด้วย ผมทราบดีว่าการเดินทางตามเส้นขอบเขาในต้นฤดูฝนจะยุ่งยากเป็นพิเศษ เพราะความร้อนเหนือผิวดินจะสะสมทำให้ฝนแรกจะมาแรง การถล่มทลายของผิวดินเหลวในลักษณะลื่นไถลยาวไกล(Avalanche) จะเกิดขึ้นได้ง่าย ฤดูหนาวกำลังผ่านพ้นไป เขตหิมะจะถอยร่นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทิ้งไว้แต่ความชื้นแฉะ และลำธารใหญ่น้อยขัดขวางการเดินทาง การเตรียมการที่ต้องแข่งขันกับกาลเวลาจะต้องเริ่มขึ้นแล้ว แม้หลายอย่างจะขาดความพร้อม เราต้องไม่พะวงกับความไม่พร้อมจนเกินไป หากเราต้องรู้ว่าเราจะเป็นอย่างไรหากเราขาดความพร้อมนี้ ผมกับอาจารย์จีซู ตั้งใจมั่นว่าเราจะเขียนหนังสือทางวิชาการให้ฝรั่งอ่านบ้าง เพราะข้อมูลพื้นฐานทางวิชาการในภูมิภาคนี้เกือบทั้งหมดเขียนโดยชาวตะวันตก ทั้งสิ้น การหลับสนิทที่สุดของผมจากความอ่อนเพลียในหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ถูกปลุกให้ตื่นโดยผู้ร่วมโดยสารคนท้องถิ่น เหนือฟ้าปูเตา "กรุณารัดเข็มขัดแน่นๆ เรากำลังบินผ่านอากาศแปรปรวน" ผมมองออกไปนอกหน้าต่างเห็นเมฆปกคลุมหนาแน่นไปหมด เครื่องบินเขย่าซ้ายขวาอย่างรุนแรง คนนั่งข้างๆ ผมเหงื่อแตก กระซิบบอกผมว่า "เมื่อ 2 ปีก่อน เครื่องบินเที่ยวนี้ชนภูเขาบริเวณใกล้ๆ นี้ ที่ร้ายคือเครื่องบินนี้บินแล้วบินอีก กลับไปกลับมาอาทิตย์ละ 3 วัน เคยซ่อมบำรุงบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้" ผมมองหน้าเขาด้วยความเข้าใจ แต่กลับไปวิตกอีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาการสำรวจ(Expedition) เพราะหากฝนแรกมาเร็ว การสำรวจของเราคงจะประสบความยุ่งยากเป็นแน่




ปูเตา เป็นเมืองเหมือนฝัน ผมฝันว่าได้ขับเคลื่อนยานแห่งเวลา ย้อนกลับไปบ้านที่เชียงใหม่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนในตัวเมืองจะประกอบด้วยคนไทเป็นส่วนใหญ่ แต่พื้นที่อื่นๆ จะเป็นของ คะฉิ่นเผ่าราวาน(Rawang) และ เผ่าลีซู(Lisu) ทั้งเมืองมีร้านอาหารอยู่ร้านเดียว จึงเปรียบเสมือนสภากาแฟที่นักเดินทางทั้งหลายจะต้องแวะผ่านและเล่าเรื่องราว สู่กันฟัง เจ้าของร้านเล่าให้ผมฟังเป็นภาษาไทบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง บางครั้งก็เป็นภาษาพม่าและภาษาคะฉิ่น ปนกันยุ่งไปหมดว่า คนหนุ่มสาวในเมืองนี้ได้อพยพข้ามโดย(ดอยออกเสียงภาษาไทย) ไปอยู่ในเขตอัสสัม ทิ้งเราปู่เฒ่าไว้ในเมือง(ปูเตา)นี้
การเดินทางไปมาหาสู่กันได้ขาดหายไปนานแล้ว เส้นทางเดินจึงลบเลือนหายไป ผู้เฒ่าคะฉิ่นที่นั่งจิบกาแฟอยู่ข้างๆ บ่นต่อไปอีกว่า
"
กุบไลข่านก็เหมือนกัน พาเรามารบกับพม่า แต่ทิ้งเราไว้หลายร้อยปีมาแล้ว เราจึงลืมทางกลับบ้าน" อาจง คะฉิ่นราวานนั่งหัวเราะอยู่ข้างๆ แล้วเอ่ยว่า "ใครๆ ก็ได้แต่คุย แต่ผม อาจง รัฐบาลพม่าเคยใช้ผมสำรวจเส้นทางนี้แล้ว เพราะหมู่บ้าน ตลอดเส้นทางเป็นของคะฉิ่นราวานทั้งหมด"
"
ที่เชิงเขาโน้น" อาจงชี้มือไปยังภูเขาหิมะที่สะท้อนแดดตอนเช้าเป็นเงาสีขาวระยับคล้ายกระจก
"
ในถ้ำมีกระดูกมนุษย์โบราณ ในคุ้ง น้ำมีหยก ทับทิม และทองคำ คนชอบเรียกว่าเขาผีสิงหรือเขากินคน แต่ผมไม่เคยเจอผีสักตัว และก็ไม่ตายซักที" ผมรีบพูดขัดคออาจง "ผมว่าตอนนี้ อาจงผู้กล้า คงหมดไฟไม่มีแรงเดินป่าแน่ๆ" อาจงหันมองหน้าผมเขม็งและตอบว่า
"
ไปเดี๋ยวนี้ยังได้"



เดินบุกภูเขาน้ำแข็ง... ไม่ยากเท่าเดินผ่านดงน้ำตา
เราเตรียมเสบียงเพื่อการเดินทางประมาณ 8 วัน รองเท้า เสื้อกันหนาว และถุงนอนสำหรับอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา ก่อนกล่าวอำลาคณะวิทยาลัยมิจจินา ซึ่งมาทำการวิจัยเรื่องพุทธศาสนากับชนเผ่าไท และสนทนากับคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งจะเดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่าทารอน(Taron) มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่มีความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร
พวกเราได้รับการเชื้อเชิญให้ร่วมเดินทางไปพร้อมกัน เพราะเส้นทางเหนือสะดวกกว่า แต่พวกเราต้องการไปทางตะวันตกเพื่อหาช่องทาง(Pass) สู่อินเดียของชนเผ่าไทในอดีต และศึกษาภูมิประเทศในเขตแนวหิมะ
และหากว่ามีเวลาเราจะเบี่ยงขึ้นเหนือเพื่อพบกับเผ่าทารอนในคราวหลัง "แล้วพวกเราจะคอยคุณ" คือคำที่คณะมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งหลายคนดูเสมือนเทพีก็ไม่ปาน โบกมืออำลาพวกเรา
การเดินทางช่วง 2 วันแรกค่อนข้างง่าย แม้จะมีลางร้ายที่มีคนตกเขาเสียชีวิต 1 คน ตัวผมเองก็บาดเจ็บเล็กน้อย และสูญเสียกล้องถ่ายรูป 1 ตัว
เราพักที่ Sang Gong ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้าย พร้อมกับเยี่ยมโบสถ์คริสต์ศาสนาที่เก่าผุพัง เหลือสัญลักษณ์คือไม้กางเขนกับหลุมฝังศพ แต่มีภาระต้องเลี้ยงดูเด็กกำพร้ากว่า 10 คน ผมจึงแวะทำบุญเล็กน้อย
แม่ชีสาวสวยชาวคะฉิ่นหน้าตาซีดเซียวพร้อมเสื้อผ้าเก่าแสนเก่า ยื่นมือที่สั่นเทาให้ผมจับพร้อมน้ำตาคลอเบ้า และกล่าวเป็นภาษาอังกฤษอย่างชัดเจนว่า Thank you...May God be with you ผมกล่าวตอบว่า "ขอบคุณแทนทุกคนที่ท่านให้ความเมตตาแก่เด็กผู้ยากไร้เหล่านี้" ผมหยิบขนมปังซึ่งเป็นอาหารของผมให้แก่เด็กๆ หยิบแล้วหยิบอีก จนอาจงจับมือผมไว้
ยากเหลือเกินที่ต้องตัดใจก้าวเดินขึ้นเขาต่อไป รู้สึกเปียกที่หางตา ผมเม้มปากแน่น เหลือบตามองเด็กหญิงอายุประมาณ 2 ขวบ ที่วิ่งตามมาส่ง...เป็นครั้งสุดท้าย
ภูเขากินคนมีจริงหรือ? อันตรายจากการเดินทางบนเส้นทางเดินที่ลบเลือน ความเสี่ยงจากการข้ามลำธาร ห้วย เหว นับไม่ถ้วน ประกอบกับความหิวโหย เหนื่อยล้า ยังพอทำเนากับความชื่นใจกับอาหารที่ชาวบ้านนำมาให้ อีกทั้งความงามของดวงตะวันที่กำลังคล้อยลับเหลี่ยมเขาหิมะ Hpungan Razi ที่สว่างขาวตัดขอบฟ้าสีครามอยู่เบื้องหน้า ทำให้ยิ้มออกได้บ้าง
เราเดินตามแสงตะวันจนลำแสงสุดท้ายเลือนหาย ที่ความสูงประมาณ 2,500 เมตรนี้ อุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว และตั้งแต่ความสูงนี้เป็นต้นไป จะไม่มีมนุษย์ให้เห็นอีกแล้ว
ทะเลหมอกไหลบ่าท่วมท้น ข้ามเขามาจากอินเดียปิดบังแสงอาทิตย์ทำให้ความมืดมาเยือนเร็ว พวกเรารีบทานอาหารค่ำอย่างง่ายๆ แล้วหามุมนอนในกระท่อมร้างสุดท้ายที่ชาวคะฉิ่นสร้างไว้ส่องสัตว์ รอพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อออกเดินทางครั้งใหม่
ทำไมเชิงเขาจึงมืด เงียบสงัด และเย็นจับขั้วหัวใจอย่างนี้
แต่ทันใดนั้น ฝนก็เริ่มโปรยปรายและรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ การนอนอยู่ท่ามกลางสายฟ้าฟาดกระหน่ำ เสียงฟ้าผ่าและแผดคำรามของพายุฝนก้องสะท้านทั่วขุนเขาห่างตัวเพียงไม่กี่ เมตรนั้น น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก
มนุษย์เราเกิดมาต้องต่อสู้มากขนาดนี้เชียวหรือ? ไม่เพียงแต่ความยุ่งยากจากความเห็นไม่ตรงกันของมนุษย์ด้วยกันแล้วเท่า นั้น เราต้องสู้กับความแปรปรวนของธรรมชาติ และการไม่รอคอยของกาลเวลาอีกด้วย
ผมรู้สึกท้อแท้เล็กน้อย เพราะรู้ดีว่าฝนแรกที่ตกแรงถึงขนาดนี้จะนำมาซึ่งดินถล่ม อาจคร่าชีวิตใครอีกก็ได้
หากฝนไม่หยุดตกในคืนนี้เราอาจถูกบังคับให้ถอยกลับเมื่อฟ้าสางวันพรุ่งนี้แน่ ผมนึกถึงคำพูดของ Dr.Alan ว่า
"
แถวนี้ดินถล่มทับคนตายทุกปี บางครั้งก็ถูกกลืนหายไปทั้งกระท่อมทั้งคน...!!" เสียงฟ้าผสมเสียงกรนของ อาจารย์จีซู ที่นอนอยู่ข้างๆ ทำให้ผมหยิบฟองน้ำมาอุดหู พร้อมยกขวด Whisky ขึ้นจิบ และพยายามข่มตาหลับ พร้อมๆ กับคอยหลบฝนที่รั่วลงมาจากหลังคาที่มุงจากหญ้าแห้ง คำพูดของคณะมหาวิทยาลัยย่างกุ้งยังคงก้องอยู่ในหู...ถ้าผมเลือกเดินทางราบ ขึ้นเหนือ คงไม่ยุ่งยากเท่านี้ ผมถอนหายใจแล้วถอนหายใจอีก
การจิบ Whisky บนดอยสูงหนาวเย็นครั้งนี้แม้จะหอมหวานและทำให้ผมอบอุ่นปานใดก็ตาม แต่ก็บาดคอบาดใจและสร้างความขมขื่นเสียนี่กระไร
ยังกับจะรู้ใจ อาจงเอื้อมมือตบขาผมเบาๆ แล้วพูดว่า "นอนเถิด พรุ่งนี้ผมจะพาคุณเดินทะลุฝนขึ้นเหนือเมฆ เราจะเห็นฝนตกจากเท้าเราลงไปข้างล่าง เราจะไม่เปียกฝนอีกแล้ว"  

                                                                                                                     Anurak

3 ความคิดเห็น:

  1. อยากให้เขียนอีกครับ ผมก็อยากเดินทางตามฝันไปในดินแดงแห่งนี้บ้าง ช่วยเขียนแนะนำการเดินทางไป ที่พัก ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางด้วยนะครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ30 กันยายน 2559 เวลา 12:15

    ขอโทษที่ตอบช้าไปหลายปีนะครับ ลุยไปเลยครับ

    ตอบลบ
  3. ขอโทษครับ ตอบช้าไปหลายปี...เดี๋ยวนี้คงเดินทางได้ง่ายกว่าแต่ก่อนนะครับ
    วิวัฒน์ ครับ

    ตอบลบ